ข้าวประดับดิน


ภาค : ภาคอีสาน 
ชื่อรายการ : ข้าวประดับดิน  
    
ชื่อสามัญ : ข้าวประดับดิน 
 
รายละเอียด :
การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย
ตำรับอาหาร : 
ผลไม้ ขนมหวาน ไก่ต้ม ดอกไม้ ข้าว ใบตอง
วิธีการเตรียมและปรุงอาหาร : 
นำ "ห่อข้าว" ที่ใส่สิ่งของ 9 อย่างประกอบด้วย ผลไม้ ขนมหวาน ไก่ต้ม ดอกไม้ และอื่น ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น แล้วห่อด้วยข้าว จากนั้นก็ห่อหุ้มชั้นนอกสุดด้วยใบตอง
คุณลักษณะทางกายภาพ : 
ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย
 
การใช้งาน : 
ใช้เป็นอาหารในประเพณีงานบุญ "ห่อข้าวประดับดิน" เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว โดยมักจะวางไว้ตามรั้วบ้าน ตามทางแยกแต่เช้ามืด เพื่อเป็นทานให้ภูติผีไร้ญาติ ซึ่งจะทำกันในช่วงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9